Header Image
ข้อมูลทั่วไปจังหวัด
watermark

บรรยายสรุปจังหวัดยะลา
---------------------------

ข้อมูลทั่วไปจังหวัดยะลา

  • ลักษณะภูมิประเทศ

     ภูมิประเทศโดยทั่วไปของจังหวัดยะลา มีลักษณะเป็นภูเขา เนินเขาและหุบเขา ตั้งแต่ตอนกลางจนถึงใต้สุดของจังหวัด มีที่ราบบางส่วนทางตอนเหนือของจังหวัด ได้แก่ บริเวณที่ราบแม่น้ำปัตตานี และแม่น้ำสายบุรีไหลผ่าน อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลางถึงสูงมาก โดยเฉลี่ยระหว่าง 100- 200 เมตร พื้นที่ส่วนใหญ่ปกคลุมด้วยป่าดงดิบ และสวนยางพารา มีเทือกเขาที่สำคัญอยู่ 2 เทือกเขา คือ เทือกเขาสันกาลาคีรี เริ่มจากอำเภอเบตง เป็นแนวยาวกั้นพรมแดนระหว่างประเทศไทย กับประเทศมาเลเซียและเทือกเขาปิโล ซึ่งเป็นเทือกเขาอยู่ภายในจังหวัด ในเขตตำบลบุดี บันนังสาเรง ของอำเภอเมืองยะลา กิ่งอำเภอกรงปินัง และอำเภอรามัน

     จังหวัดยะลา มีแม่น้ำที่สำคัญ คือ แม่น้ำปัตตานี ต้นน้ำเกิดจากภูเขาในท้องที่อำเภอเบตง ไหลผ่านอำเภอธารโต อำเภอบันนังสตา อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา อำเภอยะรัง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานีและไหลลงสู่ทะเลที่อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี ความยาวประมาณ ๒๑๐ กิโลเมตร บริเวณที่แม่น้ำปัตตานีไหลผ่านเขตอำเภอเบตง อำเภอธารโตและอำเภอบันนัสตาเป็นพื้นที่ระหว่างภูเขา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจึงได้ก่อสร้างเขื่อนบางลางขึ้น ที่ตำบลบาเจาะ อำเภอบันนังสตา เป็นเขื่อนไฟฟ้าพลังนี้อีกแห่งหนึ่ง ของภาคใต้ ติดตั้งเครื่อง กำเนินไฟฟ้า ๓ เครื่อง มีกำลังผลิตรวม ๗๒,๐๐๐ กิโลวัตต์

     แม่น้ำอีกสายหนึ่งที่ไหลผ่านจังหวัดยะลา คือ แม่น้ำสายบุรี ต้นกำเนิดจาภูเขา สันกาลาคีรี ซึ่งกั้นเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับ ประเทศมาเลเซีย ไหลผ่านอำเภอแว้ง อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส ผ่านอำเภอรามัน จังหวัดยะลา แล้วไหลลงสู่ทะเลที่อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี ความยาวประมาณ ๑๕๐ กิโลเมตร
 
     ภูเขาที่สำคัญ ของจังหวัดยะลา คือ ภูเขาสันกาลาคีรี ซึ่งเริ่มต้นจากเขตอำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ผ่านอำเภอยะหา อำเภอบันนังสตา อำเภอธารโต และอำเภอเบตง เป็นสันเขาที่แบ่งเขตแดนระหว่างประเทศไทยกันประเทศมาเลเซีย และเป็นต้นน้ำที่สำคัญ คือ แม่น้ำสายบุรี อีกภูเขาหนึ่ง คือ ภูเขาปิโล อยู่ระหว่างตำบลบุดี ตำบลบันนังสาเรง และตำบลกรงปินัง อำเภอเมืองยะลา เป็นเทือกเขา ยาวเหยีดติดต่อกับเขตอำเภอรามันและอำเภอบันนังสตา นอกจากนั้นยังมีภูเขาปรินยอ ซึ่งอยู่ระหว่างเขตอำเภอรามันและอำเภอบันนังสตา

     จากสภาพภูมิประเทศที่อุดมไปด้วยภูเขา ทำให้จังหวัดยะลามีฝนตกเกือบตลอดทั้งปี ทำให้อากาศชุ่มชื้น อากาศอบอุ่นในตอน กลางวันและเย็นสบายในเวลากลางคืน

 

  • พื้นที่เเละอณาเขตติดต่อ

     อาณาเขตติดต่อกับจังหวัดและประเทศใกล้เคียงดังนี้
          ทิศเหนือ จดอำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา และอำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี
          ทิศตะวันออก จดอำเภอบาเจาะ อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส รัฐเปรัด ประเทศมาเลเซีย
          ทิศใต้ จดรัฐเปรัด ประเทศมาเลเซีย
          ทิศตะวันตก จดจังหวัดสงขลา และรัฐเคดาห์ ประเทศมาเลเซีย

 

  • ลักษณะภูมิอากาศ

     จังหวัดยะลาตั้งอยู่ในเขตมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือและลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ทำให้มีสภาพอากาศแบบร้อนชื้น มี 2 ฤดู คือ ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ - พฤษภาคม และฤดูฝนเริ่มตั้งแต่ พฤษภาคม - กุมภาพันธ์ อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ยประมาณ 23.1 องศาเซลเซียส และสูงสุด เฉลี่ย 32.7 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 2,281.6 มิลลิเมตร ต่อปี มีฝนตกเฉลี่ย 135 วันต่อปี เดือนตุลาคม - พฤศจิกายน มีฝนตกชุกที่สุด


image รูปภาพ
image

Line

คะแนนโหวต :
starstarstarstarstar
จำนวนการเข้าชม : 67,070